สำนักหอสมุดกลางมีหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนและความต้องการของนิสิต อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และจัดให้บริการครอบคลุมสำนักหอสมุดกลางประสานมิตร ห้องสมุดองครักษ์ ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ และห้องสมุดศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน
ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) ทรัพยากรฉบับพิมพ์ ประกอบด้วย หนังสือ วารสาร และหนังสือพิมพ์ และ 2) ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ฐานข้อมูลออนไลน์ หนังสือ/วารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดหาแบบแยกรายชื่อ และโปรแกรมการเพื่อการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ โปรแกรมจัดการบรรณานุกรมและการอ้างอิง และโปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบันสำนักหอสมุดกลางมุ่งเน้นไปที่การจัดหาทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ด้วยคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง และช่วยลดพื้นที่สำหรับการจัดเก็บ
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนหลักสูตรการเรียนการสอน โดยการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่สอดคล้องตามความต้องการของคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก
- เพื่อรวบรวมวัสดุที่ส่งเสริมการศึกษาทั่วไปในทุกระดับการศึกษาของมหาวิทยาลัย
- เพื่อคงความเข้มแข็งของกลุ่มทรัพยากรสารสนเทศแต่ละสาขาวิชา
- เพื่อสนับสนุนการวิจัยของนิสิต อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย
การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
1. ทรัพยากรสารสนเทศฉบับพิมพ์ ประกอบด้วย
1.1 หนังสือ เน้นเนื้อหาหลักที่ใช้ในการเรียนการสอน และเนื้อหาทั่วไปในแต่ละสาขาวิชาที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการจัดหาหนังสือมีความสอดคล้องกันระหว่างปีงบประมาณและปีการศึกษา สำนักหอสมุดกลางจะทำบันทึกข้อความแจ้งไปยังคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก เพื่อขอความร่วมมือในการเสนอตำราหลักหรือตำราประกอบการเรียนการสอนของแต่ละหลักสูตร พร้อมเรียงลำดับความสำคัญของรายการหนังสือที่ต้องการ โดยมีกำหนดช่วงเวลา ดังนี้
1.1.1 การจัดซื้อหนังสือสำหรับภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษาปัจจุบัน
1) สำนักหอสมุดกลางดำเนินการทำบันทึกข้อความแจ้งคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ภายในวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี
2) คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก เสนอรายชื่อหนังสือให้สำนักหอสมุดกลาง ภายในวันที่ 31 สิงหาคมของปีเดียวกัน
1.1.2 การจัดซื้อหนังสือสำหรับภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษาถัดไป
1) สำนักหอสมุดกลางดำเนินการทำบันทึกข้อความแจ้งคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ภายในวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี
2) คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก เสนอรายชื่อหนังสือให้สำนักหอสมุดกลาง ภายในวันที่ 28 - 29 กุมภาพันธ์ของปีถัดไป
กรณีหนังสือที่มีการเสนอซื้อนั้น มีจำหน่ายทั้งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และฉบับพิมพ์ ทางสำนักหอสมุดกลางจะพิจารณาจัดซื้อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นลำดับแรก ทั้งนี้หากมีการเสนอซื้อหนังสือเป็นจำนวนมากและไม่สอดคล้องกับงบประมาณ สำนักหอสมุดกลางจะพิจารณาจัดหาหนังสือตามลำดับรายการที่คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ได้เสนอรายชื่อมา
สำหรับการจัดซื้อเป็นตัวเล่มฉบับพิมพ์ มีระยะเวลาในการดำเนินการและการกำหนดจำนวนเล่มในการจัดหาหนังสือแต่ละรายชื่อ ดังนี้
ประเภทหนังสือ | หนังสือภาษาไทย | หนังสือภาษาต่างประเทศ | ||
---|---|---|---|---|
จำนวนเล่ม/ชื่อเรื่อง | ระยะเวลาในการดำเนินการ | จำนวนเล่ม/ชื่อเรื่อง | ระยะเวลาในการดำเนินการ | |
ตำราหลัก/หนังสือวิชาการ | 2-5 เล่ม | 20 วันทำการ | 1 เล่ม | 60-90 วันทำการ |
หนังสือทั่วไป | 1-2 เล่ม | 1 เล่ม | ||
หนังสือนวนิยาย/เรื่องสั้น | 1 เล่ม | 1 เล่ม | ||
หนังสือสำหรับเด็ก | 1 เล่ม | 1 เล่ม | ||
หนังสือได้รับรางวัล | 1 เล่ม | 1 เล่ม |
* จำนวนเล่มอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามแต่กรณี
หมายเหตุ:
1. กรณีที่ต้องการเสนอซื้อหนังสือเป็นจำนวนมาก แต่เสนอไม่ทันในรอบที่กำหนด ขอให้อาจารย์เสนอซื้อในนามคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก โดยทำบันทึกถึงผู้อำนวยการ สำนักหอสมุดกลาง
2. หากมีการเสนอซื้อหนังสือเป็นจำนวนมากและไม่สอดคล้องกับงบประมาณ สำนักหอสมุดกลางจะพิจารณาจัดหาหนังสือที่ใช้เป็นตำราหลักเป็นอันดับแรก
3. กรณีต้องการเสนอซื้อหนังสือทั่วไปทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถเสนอซื้อผ่านระบบเสนอซื้อ CLBS (Central Library Book Suggestion) ของสำนักหอสมุดกลางที่ http://clbs.swu.ac.th/bookorder/
1.2 วารสารและหนังสือพิมพ์ เน้นการบอกรับวารสารวิชาการที่ใช้ในการเรียนการสอนในสาขาวิชา รวมทั้งความรู้ทั่วไป โดยกำหนดจำนวนฉบับในการจัดหาในแต่ละรายชื่อ ดังนี้
วารสาร/หนังสือพิมพ์ | จำนวนฉบับ |
---|---|
วารสารภาษาไทย | 1 |
วารสารภาษาต่างประเทศ | 1 |
หนังสือพิมพ์ภาษาไทย | 1 |
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ | 1 |
กรณีที่คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ต้องการเสนอให้สำนักหอสมุดกลางบอกรับวารสารวิชาการใดใด จะต้องทำบันทึกถึงผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลางภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อเตรียมการพิจารณาและขอตั้งงบประมาณสำหรับการจัดหาในปีงบประมาณถัดไป และดำเนินการให้สอดคล้องกับรอบการบอกรับวารสาร
2. ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์
2.1 ฐานข้อมูลออนไลน์ เน้นการบอกรับฐานข้อมูลออนไลน์ที่ให้บริการครอบคลุมสหสาขาวิชาเป็นหลัก เนื่องจากสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลวารสาร หนังสือ เอกสารอ้างอิง คลิปข่าว และอื่น ๆโดยใช้งบประมาณประจำปีในการบอกรับ/จัดซื้อ และใช้วิธีการบอกรับ/จัดซื้อจากสำนักพิมพ์โดยตรง/ตัวแทนจำหน่าย หรือในลักษณะภาคีความร่วมมือ
กรณีเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เฉพาะสาขาที่คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ต้องการเสนอให้สำนักหอสมุดกลางบอกรับหรือจัดซื้อเนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เป็นหลักในการเรียนการสอน จะต้องทำบันทึกถึงผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลางภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อเตรียมการพิจารณาและขอตั้งงบประมาณสำหรับการจัดหาในปีงบประมาณถัดไป
2.2 วารสารอิเล็กทรอนิกส์ จัดให้บริการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ กรณีเป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบการบอกรับแยกเป็นรายชื่อนั้น จะพิจารณาบอกรับจากการนำเสนอในนามคณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน โดยเน้นบอกรับวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวารสารหลัก (Core Journals) ที่ต้องใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งนี้คณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน จะต้องทำบันทึกถึงผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง ภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อเตรียมการพิจารณาและขอตั้งงบประมาณสำหรับการจัดหาในปีงบประมาณถัดไป
2.3 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จัดให้บริการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ กรณีเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่แยกซื้อเป็นรายชื่อนั้น จะพิจารณจัดซื้อหนังสือ/ตำราที่ต้องใช้ประกอบการเรียนการสอนของแต่ละหลักสูตรตามการเสนอในนามคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ตามรอบที่กำหนด รวมถึงจัดซื้อหนังสือทั่วไปที่ผู้ใช้บริการผ่านระบบเสนอซื้อหนังสือ CLBS (Central Library Book Suggestion) บนเว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลาง ที่ http://clbs.swu.ac.th/bookorder/ โดยจะพิจารณาจัดซื้อตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรของแต่ละคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก
2.4 โปรแกรมที่ใช้สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้กว้างขวาง เช่น โปรแกรมการจัดการทางบรรณานุกรมและการอ้างอิง และโปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ เป็นต้น
งบประมาณ
สำนักหอสมุดกลาง ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินรายได้ในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อการบริหารงานประจำส่วนงานในภาพรวม และสำนักหอสมุดกลางจะตัดงบประมาณร้อยละ 40 จากงบประมาณเงินรายได้ทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศของสำนักหอสมุดกลาง โดยได้แบ่งอัตราสัดส่วนสำหรับการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ ดังนี้
ประเภททรัพยากรสารสนเทศ | สัดส่วนการจัดสรรงบประมาณ (โดยประมาณ) |
---|---|
ทรัพยากรฉบับพิมพ์ | ร้อยละ 20 |
ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ | ร้อยละ 80 |
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กุมภาพันธ์ 2567